จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า

 
คำชี้แจง
    บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางพิเศษและรถไฟฟ้า มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ โดยบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม BEM มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามเจตนารมณ์ของบริษัทที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเพื่อการเติบโตทางธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งสานประโยชน์และการเติบโตไปพร้อมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม BEM ตระหนักดีว่าคู่ค้าคือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ BEM กับคู่ค้าสอดคล้องกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลจนเกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน BEM จึงได้กำหนดจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า เพื่อให้คู่ค้านำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจกับ BEM และเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าตามความเหมาะสม โดย BEM และคู่ค้าจะร่วมมือกันเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพผ่านการสื่อสาร การให้ข้อมูลและร่วมกันหาแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสมรวมถึงการประเมินผล การติดตามการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด
 
นิยาม
  • BEM หมายถึง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • คู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ/หรือผู้ให้บริการ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแก่บริษัทฯ
ขอบเขตของการนำไปใช้งาน
จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier code of conduct) ฉบับนี้ ครอบคลุมถึงคู่ค้าและผู้รับเหมาทั้งหมด ซึ่งรวมถึงพนักงาน ตัวแทน และผู้รับเหมารายย่อยหรือคู่ค้าของกลุ่มคู่ค้าและผู้รับเหมาดังกล่าวด้วย
 
นโยบายและแนวปฏิบัติ
1. ด้านสิ่งแวดล้อม
1.1 การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
คู่ค้าต้องมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
 
1.2 การใช้ทรัพยากร และพลังงาน
คู่ค้าต้องมีความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากร พลังงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุที่ลดก๊าซเรือนกระจก การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการกำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
 
1.3 ของเสีย สารเคมีและวัตถุอันตราย
คู่ค้าต้องบริหารจัดการการเก็บรักษา การปล่อย หรือการกำจัดของเสีย สารเคมีและวัตถุอันตราย ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
 2. ด้านสังคม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน
2.1 อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คู่ค้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด จัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เพื่อลดและควบคุมผลกระทบจากอุบัติเหตุการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย และเหตุฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงจัดให้มีเครื่องป้องกันส่วนบุคคลให้กับลูกจ้างอย่าง เหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนี้คู่ค้าควรสนับสนุนให้ลูกจ้างแจ้งข้อกังวลด้านความปลอดภัยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลกระทบในทางลบต่อตัวลูกจ้าง
 
2.2 การป้องกัน เตรียมตัว และตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
คู่ค้าต้องมีการระบุ และประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ รวมถึงมีการวางแผน และมีระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าว
2.3 การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
คู่ค้าต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน เช่น
  • ไม่ใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์
  • การจ้างงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • คู่ค้าต้องไม่ใช้แรงงานเด็กที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากมีการใช้แรงงานเด็ก คู่ค้าต้องจัดให้มีความคุ้มครองการใช้แรงงานเด็กตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการและสามารถตรวจสอบได้
  • คู่ค้าต้องไม่ใช้ลูกจ้างที่เป็นหญิงทำงานในลักษณะที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หากลูกจ้างเป็นหญิงมีครรภ์ต้องได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
  • หากคู่ค้ามีการจ้างแรงงานต่างด้าว คู่ค้าต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน
คู่ค้าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในการจ้างงาน ไม่กระทำการซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติ สัญชาติ อายุ ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศหรือความพิการ หรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในรูปแบบใดๆ
2.5  เงื่อนไขการทำงาน
คู่ค้าต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน และการเลิกจ้าง
2.6 การมีส่วนร่วมต่อชุมชน
คู่ค้าต้องไม่ละเมิดสิทธิของชุมชน และควรเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีในพื้นที่ดำเนินงาน
3.   ด้านจริยธรรมทางธุรกิจ
3.1 การส่งมอบสินค้าและบริการ
คู่ค้าต้องปฏิบัติตามสัญญาและเงื่อนใขที่ตกลงไว้ โดยส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม และส่งมอบให้ตรงเวลาเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อคุณภาพสินค้าและบริการที่ส่งมอบ และมีการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง
3.2 การปฏิบัติตามข้อบังคับ
คู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจ โดยปฏิบัติตามกฎหมายระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงกฎระเบียบที่บังคับใช้กับการดำเนินธุรกิจ และใบอนุญาตที่จำเป็นในสถานที่นั้นๆ
3.3 คอร์รัปชัน และการติดสินบน
คู่ค้าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
การติดสินบน และการกระทำอื่นๆ ที่มีลักษณะต้องห้ามทางธุรกิจ และคู่ค้าต้องตระหนักดีว่า
BEM มีเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดในเรื่อง นโยบายการป้องกันและต่อต้านการทุจริต การให้หรือรับสินบน หากคู่ค้ารายใดมีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายหรือรับสินบน หรือสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะถูกยกเลิกสัญญา โดย BEM จะไม่รับผิดชอบความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อคู่ค้าอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัญญาดังกล่าว และคู่ค้าอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
คู่ค้าต้องรับทราบว่า ควรหลีกเลี่ยงการให้หรือรับสิ่งของหรือประโยชน์ใดๆ อันจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินงาน หรือก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม เว้นเสียแต่เป็นของขวัญที่ให้ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจในเทศกาล หรือประเพณีนิยมในมูลค่าที่เหมาะสม
3.5 ผลประโยชน์ทับซ้อน
คู่ค้าต้องแจ้งให้ BEM ทราบ หากพบว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนระหว่างฝ่ายจัดการ พนักงานและบุคลากรใน BEM กับคู่ค้า
3.6 การรักษาความลับทางการค้า
คู่ค้าต้องไม่เผยแพร่ และไม่นำข้อมูลที่เป็นความลับ และ/หรือข้อมูลภายในของ BEM และผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจไปแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม และไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม รวมถึงการรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3.7 การเปิดเผยข้อมูล
คู่ค้าต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องและเปิดเผยข้อมูลทั้งในด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม กิจกรรมสังคม โครงสร้าง รวมถึงผลประกอบการ โดยมีความสอดคล้องตามข้อกำหนด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3.8 สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
คู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และส่งเสริมมาตรการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
 
ช่องทางการแจ้งเบาะแส และเรื่องร้องเรียน
ในกรณีที่คู่ค้าหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีข้อสงสัยหรือพบเห็นการกระทำที่สงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จรรยาบรรณ หรือนโยบายของ BEM ท่านสามารถสอบถาม หรือแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน พร้อมส่งรายละเอียดหลักฐานต่างๆ ตามช่องทางต่อไปนี้
 
ประธานกรรมการตรวจสอบ / กรรมการอิสระ / เลขานุการบริษัท
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 238/7 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงบางกะปิ
เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
 
โทรศัพท์ : 0 26414611
อีเมล    companysecretary@bemplc.co.th
 
เราใช้คุ้กกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bemplc.co.th ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุ้กกี้ตามที่ระบุใน นโยบายคุ้กกี้