- นโยบายบริษัท
นโยบายการจ่ายเงินปันผล
บริษัท
บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิของแต่ละปี โดยคำนึงถึงผลประกอบการ โครงสร้างและภาระผูกพันทางการเงินการลงทุนตลอดจนความสม่ำเสมอ ในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
บริษัทย่อย
บริษัทย่อยของบริษัท มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลัง หักเงินสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย ซึ่งพิจารณาจากผลการประกอบการในรอบปีบัญชีของงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันสิ้นรอบปีบัญชี และตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ โดยคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาและเสนอให้ คณะกรรมการบริษัทย่อยพิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน ความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของบริษัทย่อยเห็นสมควร
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน ผู้มีส่วนได้เสียผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท โดยบริษัทยึดถือแนวปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทซึ่งเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการ 8 หมวด คือ
- บทบาทความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กร
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ กำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการที่ดี สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน
- ติดตามดูแลให้กรรมการและผู้บริหารปฏิบัติตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติการประชุม
- วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทเพื่อความยั่งยืน
- กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่สอดคล้องและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัท ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคม
- ติดตามดูแลการกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม
- เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล
- กำหนดและทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการเพื่อให้มีขนาด องค์ประกอบ และสัดส่วนกรรมการอิสระที่เหมาะสม
- มีกระบวนการสรรหาโปร่งใสและชัดเจน
- มีโครงสร้างค่าตอบแทนเหมาะสมกับความรับผิดชอบ
- มีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ
- มีการกำหนดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการบริษัทจะไปดำรงตำแหน่งกรรมการจะต้องไม่เกิน 5 แห่ง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
- การสรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารทรัพยากรบุคคล
- มีกระบวนการสรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย
- โครงสร้างค่าตอบแทนที่เหมาะสม
- มีการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีจำนวน ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์
- ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
- ส่งเสริมและพัฒนาการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนานวัตกรรมองค์กร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่ธุรกิจตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียภายใน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก
- ระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
- ระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายในมีความเหมาะสม กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล
- จัดการความขัดแย้งและป้องกันการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ข้อมูล โอกาส และการทำธุรกรรมกับผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
- ความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล
- การเปิดเผยข้อมูลสำคัญทางการเงิน และข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินมีความถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา โปร่งใส ตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
- สื่อสารข้อมูลกับผู้มีส่วนได้เสียโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่อย่างเหมาะสม
- ปกป้องข้อมูลที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยสามารถสะท้อนการปฏิบัติหรือการสร้างคุณค่าแก่กิจการอย่างยั่งยืน
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
- กำกับดูแลให้มีกระบวนการสร้างความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นในเรื่องสำคัญของบริษัท
- ส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มีมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม
- ส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น และดูแลผู้ถือหุ้นมากกว่าสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
- ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น
นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทโดยเน้นการปฏิบัติงานที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม พร้อมมุ่งให้เกิดประโยชน์และการเติบโตไปพร้อมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม ดังนั้น บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายในการปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้
- การนำองค์กรด้วยแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของบริษัท
- ดำเนินการให้แนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งเดียวกับทุกกระบวนการทำงานและกระบวนการตัดสินใจของบริษัท
- ส่งเสริมการฝึกอบรม การให้ความรู้ และการให้คำแนะนำที่มุ่งเน้นวิธีปฏิบัติตามแนวทางด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- สนับสนุนการดำเนินงานและสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการ โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น บริษัทจึงมีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมมลพิษ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้บริการ พนักงานและชุมชน
- สร้างจิตสำนึกแก่พนักงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎหมาย และข้อกำหนดอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
- ทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
- เผยแพร่นโยบายสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นโยบายฉบับนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของพนักงานและผู้รับเหมาทุกคนที่จะนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อผู้ใช้บริการ พนักงาน ผู้รับเหมาและชุมชนรอบข้าง
นโยบายการบริหารความเสี่ยง
บริษัทตระหนักว่ากระบวนการบริหารความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถเห็นถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทำให้สามารถเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา รวมถึงมีศักยภาพให้ได้มาซึ่งโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยกำหนดนโยบายในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ดังนี้
- ให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงเป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติสากล เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปฏิบัติและการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งบริษัท สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท
- ให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน การตัดสินใจที่สำคัญในการบริหารงาน การกำหนดกลยุทธ์ และการวางแผนงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ภารกิจ และวิสัยทัศน์ของบริษัทที่กำหนดไว้
- ให้การบริหารความเสี่ยงเป็นไปในลักษณะเชิงรุก เพื่อบริหารทั้งความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ และสูญเสียโอกาส
- ให้การบริหารความเสี่ยงเป็นความรับผิดชอบของพนักงานในทุกระดับชั้นที่ต้องตระหนัก และบริหารความเสี่ยงที่มีในการปฏิบัติงานในหน่วยงานของตนและองค์กร โดยให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอและเหมาะสม
- กำหนดแนวทางเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทสามารถยอมรับได้ ในการวางแผนจัดการและควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ หน่วยงานจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการจัดให้มีมาตรการจัดการความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับว่าคุ้มค่าหรือไม่
- ให้มีการสื่อสารการบริหารความเสี่ยงภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ พัฒนาและนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
- ให้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงประจำปี โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยงถึงความเพียงพอและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจในปัจจุบัน
- ติดตามและประเมินผลการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการบริหาร ความเสี่ยงได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม
นโยบายในการต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชั่น
บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และการป้องกันการทุจริตทั้งภายในและภายนอกขององค์กร โดยบริษัทได้กำหนดแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ผ่านทางจรรยาบรรณบริษัท และบริษัทได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
- พนักงานทุกระดับของบริษัทควรปฏิบัติงานด้วยความเป็นธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจร่วมกับหน่วยงานต่างๆและการปฏิบัติงานนั้นต้องถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งอยู่ในจรรยาบรรณบริษัท
- สนับสนุนให้ปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท
- สนับสนุนให้มีการปลูกจิตสำนึกของผู้บริหารและพนักงานให้ละเว้นการทุจริตและตระหนักถึงโทษภัยของการทุจริต
- สนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานไม่พึงรับหรือให้การเลี้ยงรับรอง ของขวัญ และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท
- บริษัทจะจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต
นโยบายการใช้ข้อมูลภายใน
บริษัทได้กำหนดแนวทางการป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ทั่วไป
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัท ของผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัท ในลักษณะที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาตลาดของหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนโดยทั่วไป ที่รู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือมีตำแหน่งในบริษัท มีความรับผิดตามกฎหมาย
เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ พนักงาน กรรมการ ตลอดจนตัวบริษัทเอง ต้องเผชิญกับการกระทำที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท บริษัทจึงได้กำหนดแนวทางการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในขึ้น แนวทางดังกล่าวนี้ จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมเป็นระยะๆ ต่อไป โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน จะต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้อย่างเคร่งครัด โดยการใช้สามัญสำนึก เหตุและผลที่พึงปฏิบัติแต่ละกรณีประกอบด้วย แนวทางหรือแนวนโยบายจะมีความเข้มงวดกว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทจะนำมาใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องที่กำหนดไว้
- การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน
บุคคลต้องห้าม
บุคคลที่ไม่ควรซื้อขายหลักทรัพย์ตามแนวทางการป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน ได้แก่- กรรมการและผู้บริหารของบริษัท
- กรรมการและผู้บริหารของบริษัทลูกของบริษัท รวมถึงบริษัทในเครือ
- พนักงานทุกคนของบริษัท และของบริษัทลูก
- คู่สมรสและบุตรของกรรมการและพนักงาน
- เครือญาติที่อาศัยร่วมชายคาเดียวกัน
หลักทรัพย์ หมายถึง หุ้น (shares) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัท (share warrants) หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible debentures) และใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (transferable subscription rights) ที่ออกโดยบริษัท
แนวทางการปฏิบัติทั่วไป แนวทางการปฏิบัติเฉพาะเรื่อง
นอกจากแนวทางการปฏิบัติโดยทั่วไปในเรื่องการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในแล้ว กรณีเฉพาะเรื่องดังต่อไปนี้ บุคคลต้องห้ามพึงปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ด้วย- บุคคลต้องห้ามข้างต้นไม่ควรซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในขณะใดๆ ก็ตาม หากบุคคลดังกล่าวรู้ หรือควรรู้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอันอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาตลาดของหลักทรัพย์ของบริษัท ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน
- บุคคลต้องห้ามที่ได้รู้ข้อมูลซึ่งมีสาระสำคัญดังกล่าว จากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและฐานะเจ้าหน้าที่ในบริษัท ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ผู้อื่นทราบ ในขณะที่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน นอกจากเป็นไปตามการปฏิบัติหน้าที่ของตนในบริษัท
- ห้ามบุคคลต้องห้ามที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดทำงบการเงินและงบดุลบริษัท ทำการซื้อหรือขาย นับแต่เริ่มจัดเตรียม จนถึงสิ้นสุดวันถัดจากวันที่ได้มีการเปิดเผยงบการเงินดังกล่าวแล้ว
- ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานผู้ใดที่ได้รับร่างงบการเงินดังกล่าวข้างต้นทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัท นับแต่วันที่ตนได้รับร่างงบการเงินดังกล่าว จนถึงสิ้นสุดวันที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลตามงบการเงินนั้นแล้ว
- ห้ามบุคคลต้องห้ามที่รู้หรือควรรู้ว่าบริษัท จะมีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งมีสาระสำคัญ ที่อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาตลาดของหลักทรัพย์ของบริษัท ทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ นับแต่วันรู้หรือควรรู้ดังกล่าว จนถึงสิ้นสุดวันถัดจากวันที่ได้ทำการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวแล้ว
- การรายงานของบุคคลต้องห้าม
- หน้าที่การจัดทำรายงาน
กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารตามที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ครั้งแรก และการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของตนตามที่กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกำหนด และรายงานในเรื่องดังกล่าวต่อบริษัท พร้อมกันด้วย - วิธีการรายงาน
กรรมการ กรรมการผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารตามข้อ ก. ข้างต้น ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจัดทำและส่งรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีหน้าที่ต้องส่งสำเนารายงานที่ส่งให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานกำกับดูแล ต่อบริษัท ในวันที่ส่งรายงานดังกล่าว
- หน้าที่การจัดทำรายงาน
นโยบายการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
- เป็นการลงทุนในโครงการหรือซื้อหุ้นสามัญของบริษัทผู้ดำเนินโครงการในลักษณะการลงทุนระยะยาว
- สัดส่วนการลงทุนตามสัดส่วนขั้นต่ำที่ทำให้บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุน
- ไม่ลงทุนในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม
นโยบายการรายงานการมีส่วนได้เสีย
บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีการรายงานการซื้อขายหรือถือครองหลักทรัพย์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส รวมถึงมีการกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารทุกคนต้องรายงานให้บริษัททราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ตามมาตรา 89/14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ดังนี้
- บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีการรายงานการซื้อขายหรือถือครองหลักทรัพย์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส รวมถึงมีการกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารทุกท่านต้องรายงานให้บริษัททราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง
- การจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทตามมาตรา 89/14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ดังนี้
- กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานให้บริษัททราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทหรือ บริษัทย่อย
- กรณีกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ ให้นำส่งแบบแจ้งรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารดังกล่าวครั้งแรก ให้กับเลขานุการบริษัทภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง
- หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในรายงานการมีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อยของกรรมการและผู้บริหาร ให้กรรมการและผู้บริหารแจ้งและนำส่งแบบแจ้งรายงานการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ที่มีการเปลี่ยนแปลงมายังเลขานุการบริษัทภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียดังกล่าว
- เลขานุการบริษัทต้องจัดส่งสำเนารายงานการมีส่วนได้เสีย ให้ประธาน กรรมการ และประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่บริษัท ได้รับรายงานนั้น
- การแจ้งข้อมูลการถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นนั้น ให้กรรมการและผู้บริหาร (นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้อง) รายงานการถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นในกรณีที่มีการถือหุ้นร่วมกันเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
- การเข้าร่วมประชุมของกรรมการที่มีส่วนได้เสีย
คณะกรรมการมีนโยบายห้ามกรรมการและผู้บริหารซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน หรือมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่จะพิจารณาเข้าร่วมประชุมหรือออกเสียงในการพิจารณาวาระนั้น
นโยบายการเข้าทำรายการระหว่างกัน
- บริษัทจะปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎระเบียบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกัน และการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทหรือบริษัทย่อย และตามมาตรฐานบัญชีที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี ทั้งนี้ หากมีรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในอนาคต อาทิ การว่าจ้างให้กลุ่มผู้ที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทำการก่อสร้าง บริหารโครงการ บำรุงรักษา คณะกรรมการบริษัท โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบร่วมด้วยจะเป็นผู้พิจารณาความจำเป็น และสมเหตุสมผลของการเข้าทำรายการนั้นๆ ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคา และเงื่อนไขการทำรายการว่าเป็นไปตามลักษณะธุรกิจปกติ และพิจารณาเปรียบเทียบการกำหนดราคากับบุคคลภายนอกหรือราคาตลาด โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียจะไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติการทำรายการ
- บริษัทไม่มีนโยบายในการให้กู้ยืมหรือค้ำประกันเงินกู้แก่บุคคลที่อาจมีความขัดแย้งตามนิยามของกลต.
- หากคณะกรรมการตรวจสอบไม่มีความชำนาญในการพิจารณารายการระหว่างกันที่อาจเกิดขึ้น บริษัทจะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระหรือผู้สอบบัญชีของบริษัท เป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการระหว่างกันดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ คณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้ถือหุ้นตามแต่กรณี
- บริษัทจะมีการเปิดเผยรายการระหว่างกันในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ตรวจสอบหรือสอบทานโดยผู้สอบบัญชีของบริษัท
นโยบายคุณภาพ
- การพัฒนาบุคลากร
บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวหน้าต่อไป - การทำงานเป็นทีม
บริษัทมุ่งเน้นให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และปรับปรุงงานอย่างเป็นทีม - การสร้างคุณภาพ
บริษัทมุ่งเน้นในการสร้างคุณภาพของงาน คุณภาพของการบริการที่ดี จากหน่วยงานภายในสู่ผู้ใช้บริการภายนอก เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ ความประทับใจ - สิ่งแวดล้อมในการทำงาน
บริษัทมุ่งเน้นให้สถานที่ทำงาน อุปกรณ์ พาหนะ มีความพร้อม เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และมีความปลอดภัย - ความรับผิดชอบของผู้บริหาร และพนักงาน
บริษัทกำหนดให้ผู้บริหารของทุกหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุน การทำกิจกรรมตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และให้พนักงานทุกคนร่วมในการทำกิจกรรมโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน
นโยบายการพัฒนาบุคลากร
- บริษัทมีนโยบายด้านการสรรหา พัฒนา และรักษาบุคลากรของบริษัท ด้วยการให้ค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน สวัสดิการและผลตอบแทนอื่นๆ ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจประเภทเดียวกัน
- บริษัทถือว่าพนักงานคือทรัพยากรที่มีค่าของบริษัท โดยทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาไปได้อย่างก้าวหน้า มีศักยภาพในการแข่งขัน และทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาบุคลากรจากภายใน ด้วยการจัดฝึกอบรมและทบทวนการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดส่งพนักงานไปดูงานและฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างจิตสำนึกและการฝึกอบรมในเรื่องความปลอดภัยในการให้บริการ โดยพนักงานของบริษัทจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของบริษัท และตามมาตรฐานสากลโดยเคร่งครัด
- บริษัทได้จัดให้มีระบบบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความเป็นธรรม เสมอภาคและเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนา และใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ
- บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจ และความภูมิใจในการปฏิบัติงานให้กับพนักงาน ด้วยการกำหนดระบบผลตอบแทนและความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานบนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และความเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้ระบบสวัสดิการที่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของบริษัท
- การรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพไว้กับบริษัทบริษัทมีการดูแลพนักงานที่มีความสามารถและมีศักยภาพสูงในการทำงาน ให้โอกาสในการก้าวหน้าในสายอาชีพ หรือ Career Path
นโยบายการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
บริษัทเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และมีนโยบายห้ามการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
- พนักงานทุกคน มีหน้าที่ปกป้องและรักษาความลับอันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทเพื่อ มิให้ข้อมูล เหล่านั้นรั่วไหล และต้องไม่นำทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาต
- พนักงานทุกคนต้องเคารพและให้เกียรติทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และไม่นำผลงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนของผลงานไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน
นโยบายการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
บริษัทกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา สังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสถานะอื่นๆ รวมถึงตระหนักในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อสังคมและบุคคลอื่น โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
- บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดและไม่สนับสนุนกิจการที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน
- บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การเข้ารับการอบรม การเลื่อนตำแหน่ง การเลิกจ้างหรือการให้ออกจากงาน อันเนื่องมาจากการแบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ สถานภาพการสมรส ผู้มีครรภ์ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือผู้พิการ เป็นต้น
- บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการทำงาน ภายใต้กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศและคำสั่งต่างๆ ของบริษัท
นโยบายความปลอดภัยและสุขอนามัย
บริษัทกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา สังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสถานะอื่นๆ รวมถึงตระหนักในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อสังคมและบุคคลอื่น โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
- บริษัทจะพยายามป้องกันอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และความเจ็บป่วยเนื่องจากงานอาชีพ ด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังของพนักงานทุกคน รวมทั้งจะจำกัด และจัดการความเสี่ยงต่อความปลอดภัย อันเกิดจากการทำงานตามขั้นตอนการปฏิบัติงานปกติ
- บริษัทจะจัดให้มีการออกแบบเครื่องมือ อุปกรณ์การจัดทำระเบียบปฏิบัติการอบรมและการควบคุมการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินของพนักงาน รวมถึงส่วนรวมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่
นโยบายการเปิดเผยข้อมูล
กำกับดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับบริษัท ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ ดังนี้
นโยบายการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ (Disclosure Policy)
- คณะกรรมการจะดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพร้อมทั้งดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ
- คณะกรรมการจะกำกับให้เผยแพร่ข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนดและผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี นอกจากนี้ คณะกรรมการจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ของบริษัท และจะกระทำอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งปรับปรุงข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทอย่างน้อยประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
- วิสัยทัศน์และพันธะกิจของบริษัท
- ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท
- รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร
- งบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ทั้งฉบับปัจจุบัน และของปีก่อนหน้า
- แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี
- ข้อมูลหรือเอกสารอื่นใดที่บริษัทนำเสนอต่อนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน หรือสื่อต่างๆ
- โครงสร้างการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
- โครงสร้างกลุ่มบริษัท รวมถึงบริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทร่วมค้า และ Special purpose enterprises / vehicles (SPEs / SPVs)
- กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีสิทธิออกเสียง
- การถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของกรรมการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผู้บริหารระดับสูง
- หนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และวิสามัญผู้ถือหุ้น
- ข้อบังคับบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อตกลงของกลุ่มผู้ถือหุ้น (ถ้ามี)
- นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
- นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง รวมถึงวิธีการจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ
- กฎบัตร หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ รวมถึงเรื่องที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
- กฎบัตร หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริหาร
- จรรยาบรรณพนักงาน และกรรมการของบริษัท รวมถึงจรรยาบรรณของนักลงทุนสัมพันธ์
- ข้อมูลติดต่อหน่วยงาน หรือบุคคลที่รับผิดชอบงานนักลงทุนสัมพันธ์ เช่น ชื่อบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลได้ หมายเลขโทรศัพท์
- คณะกรรมการจะดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
- รายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้พร้อมเหตุผล
- รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน
- คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (Management Discussion and Analysis หรือ MD&A) เพื่อประกอบการเปิดเผยงบการเงินทุกไตรมาส
- ค่าสอบบัญชีและค่าบริการอื่นที่ผู้สอบบัญชีให้บริการ
- บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย จำนวนครั้งของการประชุมและจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมในปีที่ผ่านมาและความเห็นจากการทำหน้าที่
- การอบรมและพัฒนาความรู้ของคณะกรรมการ
- นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูง รูปแบบหรือลักษณะของค่าตอบแทน
นโยบายเกี่ยวกับแผนการสืบทอดตำแหน่ง
- บริษัทมีการจัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง และตำแหน่งงานในสายงานหลัก โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน ศักยภาพและความพร้อมของแต่ละบุคคลเป็นหลัก
- จัดให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลที่เป็น Successor ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นตามตำแหน่งงาน เพื่อสืบทอดงานในกรณีที่กรรมการผู้จัดการหรือผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
- บริษัทมีการจัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารในระดับต่างๆ โดยเฉพาะผู้บริหารและตำแหน่งในสายงานหลัก ซึ่งเน้นการสรรหาจากบุคลากรภายในองค์กร โดยกำหนดให้มีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีและมีศักยภาพได้เติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับขั้นของพนักงานทั้งผู้บริหารระดับกลางและพนักงานโดยคณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป หรือผู้บริหารระดับกลางเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
- ผู้บริหารที่ได้รับการกำหนดให้เป็นบุคลากรที่จะสืบทอดตำแหน่ง นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยคุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ด้วยการหมุนเวียนปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และเข้ารับอบรมตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในอนาคต และเพื่อให้มีการส่งมอบงานเป็นไปอย่างราบรื่น และการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไป
คณะกรรมการบริษัทอนุมัติหลักการในการที่บริษัทจะเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไป ซึ่งเป็นธุรกรรมที่มีข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนจะพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยอำนาจต่อรองทางการค้าที่ปราศจากอิทธิพลในการที่ตนมีสถานะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ในการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย กับกรรมการ ผู้บริหารหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
- การว่าจ้างบริษัทหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันเพื่อทำการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือก่อสร้างเพิ่มเติมทางพิเศษและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่ เกี่ยวโยงกันเป็นผู้เสนอราคา และเงื่อนไขที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
- การว่าจ้างบริษัท หรือนิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันเพื่อดำเนินการซ่อมแซมหรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์พร้อมค่าแรง เพื่อบำรุงรักษาอาคารบริหาร และศูนย์ซ่อมบำรุงในอนาคต ซึ่งธุรกรรมเหล่านั้นมีเงื่อนไขทางการค้า และข้อตกลงอื่นไม่ต่างจากคู่ค้าอื่น
- ธุรกรรมระหว่างบริษัทและบริษัทย่อยกับการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดังนี้
- การให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้บริการระบบรถไฟฟ้าในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี
- การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางโดยรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่กำหนดเป็นครั้งคราว โดยการให้ส่วนลดค่าโดยสาร หรือ ยกเว้นการจัดเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า รฟม. จะชดเชยรายได้ในวันเวลาดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม
- การทำธุรกรรมในลักษณะการรับจ้างบริหาร หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับนิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลที่ เกี่ยวโยงกัน
- การเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทย่อยกับ บมจ.ช.การช่าง เป็นที่ตั้งสำนักงานตามกฎหมาย
- การทำธุรกรรมอื่นซึ่งมีลักษณะเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันที่มีเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไปตามนิยามที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
หลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูง
การสรรหากรรมการ
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาสรรหาบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนกรรมการที่พ้นตำแหน่งทั้งกรณีที่ลาออกก่อนครบวาระและที่ครบกำหนดออกตามวาระตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- มีคุณสมบัติสอดคล้องตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎของ ก.ล.ต. และกฎของตลาดหลักทรัพย์ฯ
- มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่หลากหลายในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท
- มีคุณลักษณะที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่บริษัท อาทิ ความเป็นอิสระ กล้าแสดงความคิดเห็น ความคิดสร้างสรรค์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์ อุทิศเวลาได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น
- กรณีที่เป็นกรรมการที่ออกตามวาระจะพิจารณาว่ามีประวัติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการด้วยความระมัดระวัง ด้วยความซื่อสัตย์ และสามารถทุ่มเทอุทิศเวลาได้อย่างเต็มที่ประกอบด้วย
- ในการสรรหากรรมการจะพิจารณาคุณสมบัติที่ต้องการสรรหา โดยพิจารณาจากทักษะที่จำเป็นที่ยังขาดอยู่ในคณะกรรมการและคุณสมบัติสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
โดยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมดังกล่าวให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท
การสรรหากรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร
- ผู้บริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจะได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ซึ่งจะพิจารณาสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม กล่าวคือ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ และมีความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทอย่างดี โดยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
- สำหรับผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป กรรมการผู้จัดการจะนำเสนอคณะกรรมการ บริหารเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง
นโยบายด้านภาษี
บริษัท มุ่งเน้นเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมุ่งเน้นเป็นองค์กรที่ดีในการรับผิดชอบภาษีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สังคมและประเทศซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน บริษัทได้กำหนดนโยบายด้านภาษีเพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการด้านภาษีเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ
บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด และเสียภาษีอย่างถูกต้อง ภายในกำหนดเวลา บริหารจัดการการใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อกำหนด ของกฎหมาย และเปิดเผยข้อมูลด้านภาษีตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่น แก่ผู้มีส่วนได้เสีย - การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านภาษี
บริษัทจะประสานความร่วมมือและรักษาสัมพันธภาพอันดีกับหน่วยงานภาษีของรัฐบนพื้นฐาน ของความซื่อตรง และความเคารพซึ่งกันและกัน - การสนับสนุนและส่งเสริมบริษัทย่อย
บริษัทจะสนับสนุนและส่งเสริมให้บริษัทย่อยปฏิบัติตามนโยบายด้านภาษี เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ
ความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นที่น่าเชื่อถือ บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ และนำไปปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า
- ผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ที่สามารถจะเข้าถึงระบบสารสนเทศได้
- ระบบสารสนเทศ มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และมีการรักษาความลับของข้อมูล
- ระบบสารสนเทศ มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- มีการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ
- ส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม และมีจิตสำนึกเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง ความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานและบุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานระบบสารสนเทศของบริษัทต้องดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของบริษัท
นโยบายการส่งเสริมนวัตกรรม
บริษัทตระหนักและมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนานวัตกรรมองค์กร เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่กิจการตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียภายใน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอกตามนโยบาย ดังนี้
- ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามพันธกิจองค์กร โดยการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
- สนับสนุนการนำอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้อย่างเหมาะสม
- สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมองค์กรเพื่อดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง
นโยบายการกำกับดูแลและจัดการข้อมูล
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัท) ตระหนักและให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและจัดการข้อมูล โดยได้กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลและจัดการข้อมูลให้มีมาตรการ และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่การได้มาของข้อมูล การจัดชั้นความลับข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล การทำลายข้อมูล การรักษาความปลอดภัย จนกระทั่งการนำไปใช้ โดยนโยบายนี้ให้มีความหมายรวมถึงขั้นตอน กระบวนการ พนักงาน และเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่บริษัทได้มาแล้วมีการคุ้มครองอย่างเข้มงวด เป็นระบบ ตามมาตรฐาน และปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
- ระบุถึงแหล่งที่มาของข้อมูลและผู้รับผิดชอบ เพื่อจัดความเสี่ยงและจัดชั้นความลับของข้อมูลได้
- รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลตามประเภทและชนิดของข้อมูล ด้วยขั้นตอน วิธีการ กระบวนการ และเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยอย่างเหมาะสม
- ระบุความเชื่อมโยงของการได้มาของข้อมูล การใช้งานข้อมูล และการทำลายข้อมูล รวมถึงระบุสถานะการจัดเก็บข้อมูล เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
- กำหนดขั้นตอนการเข้าถึงข้อมูล และเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เหมาะสม โปร่งใส และมีความปลอดภัยตามระดับชั้นความลับของข้อมูล รวมถึงตรวจสอบความครบถ้วน ความถูกต้อง และความพร้อมใช้งานของข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
- เปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และไม่เปิดเผยข้อมูลให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน หรือเว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
- เก็บรักษาข้อมูล หรือทำลายข้อมูล ด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของบริษัท
- ส่งเสริมให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม และมีจิตสำนึกที่ดี เกี่ยวกับการกำกับดูแลและจัดการข้อมูล
- กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆขึ้นมาใหม่ในการกำกับดูแลและจัดการข้อมูลได้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวธุรกิจ และเป็นไปตามธรรมาภิบาล
นโยบายการรู้จักลูกค้า สำหรับการใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัท) ตระหนักถึงหน้าที่และให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า จึงได้กำหนดนโยบายการรู้จักลูกค้า สำหรับการใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2563 เรื่องหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า สำหรับการเปิดใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการแสดงตนของลูกค้า การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า และการยืนยันตัวตนลูกค้า รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ 2542 และกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของการรู้จักลูกค้าให้มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และช่องทางการใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
- จัดให้มีมาตรการการแสดงตนของลูกค้าและการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท โดยต้องจัดให้ลูกค้าแสดงข้อมูลและหลักฐานในการแสดงตนแก่พนักงานของบริษัท รวมถึงช่องทางอื่นที่บริษัทกำหนด ก่อนการทำธุรกรรม เว้นแต่ลูกค้าได้ทำการแสดงตนไว้ก่อนแล้ว
- จัดเก็บข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายและระเบียบของบริษัทกำหนด โดยการใช้ข้อมูลจะต้องใช้ตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของบริษัทเท่านั้น
- เก็บรักษาข้อมูลลูกค้าให้มีความพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดขั้นตอน/ช่องทางการยืนยันตัวตนของลูกค้า รวมถึงการเข้าถึง แก้ไขเปลี่ยนแปลงและลบข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของบริษัท
- ส่งเสริมให้พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม เกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการ รวมถึงปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้
อนึ่ง นโยบายการรู้จักลูกค้า สำหรับการใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นความรับผิดชอบของบริษัท ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และให้การสนับสนุน เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
กิจกรรมเพื่อสังคม
บริษัท ในฐานะผู้ให้บริการทางพิเศษ และรถไฟฟ้า ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินงานตามเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนและคมนาคมแบบครบวงจร
ศูนย์บริการข้อมูลรถไฟฟ้า MRT
วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
BEM
- รู้จัก BEM
- เกี่ยวกับเรา
- เหตุการณ์สำคัญ
- ข้อมูลพื้นฐาน BEM
- ลักษณะการประกอบธุรกิจ
- สารจากประธานกรรมการบริษัท
- โครงสร้างองค์กร
- คณะกรรมการบริษัท
- คณะกรรมการตรวจสอบ
- คณะกรรมการสรรหาและกําหนดค่าตอบแทน
- คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยง
- คณะกรรมการบริหาร
- คณะผู้บริหาร
- การกํากับดูแลกิจการ
- วิสัยทัศน์และพันธกิจ
- เป้าหมายและกลยุทธ์ธุรกิจ
- นโยบายบริษัท
- ข้อบังคับบริษัท
- จรรยาบรรณบริษัท
- จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์
- ติดต่อเลขานุการบริษัท
- การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์
ร่วมธุรกิจกับ BEM
- พัฒนาเชิงพาณิชย์
- จัดซื้อจัดจ้าง
ร่วมงานกับ BEM
- ร่วมงานกับ BEM
สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2561 บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
Member of , APTA and NOVA.



BANGKOK MRT
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
ตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมืองด้วยแอปพลิเคชัน Bangkok MRT ทำให้วางแผนการเดินทางเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสำหรับคุณ มีครบทั้งข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เช่น แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้า แผนผังบริเวณสถานี สิ่งอำนวยความสะดวก ข่าวสารและกิจกรรม พร้อมทั้งฟังก์ชันต่างๆ ให้คุณเลือกใช้อีกเพียบ...